ประวัติโรงเรียนโดยย่อ
ก่อนพุทธศักราช 2458 ในจังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่มีโรงเรียนเป็นของรัฐ ซึ่งทางราชการดำเนินการศึกษาโดยมีการศึกษาเล่าเรียนตามวัดวาอารามต่างๆทั่วไป และได้อาศัยกุฏิเป็นสถานที่เล่าเรียน เมื่อมีผู้ศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น ก็ขยายสถานที่ศึกษาเล่าเรียนไปที่ศาลาการเปรียญ ผู้ที่เล่าเรียนมีทั้งเด็กวัดและเด็กบ้าน มีท่านเจ้าอาวาส ภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นครู-อาจารย์ เรียกว่า “โรงเรียนวัด” มีภิกษุเปลี่ยน วีระปรีย์ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดช่องลมเป็นผู้เริ่มสอนศิษย์ ต่อมาท่านเจ้าอาวาสและภิกษุได้ นำศิษย์มาฝากให้เล่าเรียนด้วย
ต่อมานางเปี่ยม ตู้จินดา ได้สร้างอาคารเสนาสนะถวายวัดช่องลม เป็นอนุสรณ์แก่สามี เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนต่อไปคณะของพระภิกษุเปลี่ยน จึงได้ย้ายจากศาลาการเปรียญมาสถานที่ แห่งใหม่นี้ ขณะนั้นมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงมีครูช้าง สังขธร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสังข์ สังขธร) มาช่วยสอนอีก 1 คน
ส่วนที่วัดใหม่คล้ายนิมิตร ตำบลมหาชัย (ปัจจุบันคือวัดมหาชัยคล้ายนิมิตร) เริ่มดำเนินการศึกษาแบบโรงเรียนวัดเช่นเดียวกับวัดช่องลม แต่ที่วัดนี้ ท่านเจ้าอาวาสพระภิกษุเปลี่ยน สุวโจ ทำการสอนด้วยตนเองโดยเริ่มแรกท่านสอนอยู่ที่กุฏิของท่าน มีเด็กวัดอยู่ 6-7 คน ต่อมาได้ย้ายสถานที่เรียนจากหอฉัน มาเรียนที่ศาลาการเปรียญ เมื่อมีจำนวนนักเรียนมากขึ้นจึงมอบให้ สามเณรเป๊ง วาสนสมสิทธิ์ (พลตำรวจโทจำเนียร วาสนสมสิทธิ์) ภิกษุจ้อยและครูบุญศรี นุตาลัย รับภาระเป็นครูสอนและให้ ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนศึกษานุกูลราษฎร์ ส่วนท่านสุวโจ ก็จัดสอนพิเศษของท่านที่กุฏิมีเด็กเรียนอยู่ 5-6 คน
พ.ศ.2457 กระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ) ได้แต่งตั้งขุนวิทยากรประสิทธิ์ มาดำรงตำแหน่งธรรมการจังหวัดสมุทรสาครได้ริเริ่มตั้งโรงเรียนวัดช่องลม เป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดใช้นามโรงเรียนว่า โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาคร “เปี่ยมวิทยาคม” เป็นอนุสรณ์แก่ นางเปี่ยม ตู้จินดา ผู้สร้างอาคารและแต่งตั้งให้ นายเปลี่ยน วีระปรีย์ เป็นครูใหญ่ (ขณะนั้นลาสิกขาบทแล้ว) กับขอให้กระทรวงธรรมการ ส่งครูมาช่วยสอนอีก 1 คน
พ.ศ. 2458 กระทรวงธรรมการได้อนุมัติให้ นายเปลี่ยน วีระปรีย์ เป็นครูใหญ่ ซึ่งต่อมาได้รับ ยศ เป็นราชบุรุษ (ราชบุรุษเปลี่ยน วีระปรีย์ เป็นบิดาของ พลเอกประลอง วีระปรีย์ อดีตปลัด กระทรวงกลาโหม และอดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย) ตั้งแต่นั้นมา การศึกษาของโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาคร “เปี่ยมวิทยาคม” และโรงเรียนศึกษานุกูลราษฎร์ ก็เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น อาคารสถานที่ก็คับแคบ ในที่สุด ก็ย้ายชั้นเรียนไปอาศัยเรียนที่ศาลาการเปรียญทั้งสองโรงเรียน
พ.ศ. 2466 โรงเรียนศึกษานุกูลราษฎร์ได้ย้ายจากวัดใหม่คล้ายนิมิตรมาอยู่ ณ อาคารนอนของพลทหารและมีฐานะเป็นโรงเรียน รัฐบาลประจำอำเภอเมือง คงใช้ชื่อเดิมว่า โรงเรียนศึกษานุกูลราษฎร์ มีครูบุญศรี นุตาลัยเป็นครูใหญ่ตามเดิม
พ.ศ.2467 โรงเรียน ประจำจังหวัดสมุทรสาคร “เปี่ยมวิทยาคม” มีจำนวนนักเรียนและชั้นเรียนลดลง ส่วนโรงเรียนประจำอำเภอเมือง (ศึกษานุกูลราษฎร์) มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ทางราชการจึงได้เปลี่ยนแปลง ย้ายโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาคร “เปี่ยมวิทยาคม” มาอยู่ที่โรงเรียน ศึกษานุกูลราษฎร์ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาคร” และย้ายโรงเรียนประจำอำเภอไปอยู่ที่ โรงเรียนประจำจังหวัด “เปี่ยมวิทยาคม” ฉะนั้น คณะครูของ รองอำมาตย์ตรีสนั่น สุนทรเนตร ที่ประจำอยู่โรงเรียนประจำจังหวัด “เปี่ยมวิทยาคม” และคณะครูของครูบุญศรี นุตาลัย ที่อยู่ประจำโรงเรียนศึกษานุกูลราษฎร์ จึงต้องย้ายตามนักเรียนของตน ด้วยการศึกษาของโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาครได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมา เดิมมีการสอนเพียงชั้นมัธยมปีที่ 3
ต่อมา พ.ศ.2471-2476 รองอำมาตย์ตรี เกื้อ (เซ้ง) เชาวนปรีชา ก็ขยายชั้นเรียนเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5 และ6 ตามลำดับ ต่อมาในสมัย ขุนโคนนท์ศึกษากร เป็นครูใหญ่ ได้เปิดสอนแผนกพาณิชยการขึ้น แต่เปิดอยู่ 2 ปีก็เลิกไป
พ.ศ. 2478-2479 ทางราชการจังหวัดสมุทรสาครได้จัดทำผังเมืองใหม่ ปรากฏว่า บริเวณที่ตั้งของโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด ใช้เป็นสถานที่ราชการ จึงจำเป็นต้องย้ายอาคารเรียนของโรงเรียนไปอาศัยอยู่ที่วัดป้อมวิเชียรโชติการาม ซึ่งทางราชการให้ชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย” ต่อมา นายจิระ นิลกุล เป็นครูใหญ่ ได้ขยายชั้นเรียนเป็นชั้นมัธยมปีที่ 7 และ 8 ขึ้นอีก
พ.ศ.2504 ได้พิจารณาเห็นว่า โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บริเวณวัดป้อมวิเชียรโชติการาม พื้นที่คับแคบไม่สามารถขยายได้ในอนาคต จึงหาที่แห่งใหม่และได้มีที่ดินของ นายเจียม ปัญจพรรค์กับนายจำรูญ จันทร์ภักดี รวม 2 แปลง ซึ่งมีบริเวณกว้างและเหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งโรงเรียน อันจะเป็นสง่าของจังหวัด อยู่ติดกับถนนเอกชัยและคลองลัดป้อม ท่านทั้งสองจึงได้มอบที่ดินทั้ง 2 แปลง ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัยในปัจจุบันนี้
พ.ศ. 2521 โรงเรียนได้รับงบประมาณ เพื่อจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมไปจนติดถนนพระราม 2 ปัจจุบัน
|